EN
×

CELEBRATION OF LOVE AND MARRIAGE EQUALITY IN THAILAND

สมรสเท่าเทียมคือทุกคนมีสิทธิที่จะรักและสร้างครอบครัวได้โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง

หลายปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นสมรสเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยช่วง Pride Month ปีนี้ ทุกคนต่างเตรียมตัวนับถอยหลังเพื่อร่วมฉลองโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยกำลังจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่สามในเอเชีย ต่อจากไต้หวันและเนปาล เนื่องจากร่างกฎหมายกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวาระสองและวาระสามในวันที่ 18 มิถุนายนนี้

ถึงอย่างนั้นหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของกฎหมายนี้ต่อกลุ่มคนดังกล่าว รวมถึงสงสัยว่าหากกฎหมายนี้บังคับใช้แล้ว จะส่งผลอะไรบ้าง วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปรู้จักกฎหมายนี้กันให้มากยิ่งขึ้น

ทำไมต้องมีกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม

กฎหมายที่เป็นต้นทางของเรื่องราวทั้งหมดคือ มาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ระบุไว้ว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้”

เมื่อกฎหมายกำหนดว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เท่านั้นที่จะสมรสกันได้ ปัญหาก็คือคู่รักเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชายชาย หญิงหญิง รวมไปถึงคู่รักที่มีอัตลักษณ์ทางเพศรูปแบบอื่นๆ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสและใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะคู่สมรสได้ตามกฎหมายเหมือนคู่รักชายหญิง

หลายคนอาจจะแย้งว่าคู่รักชายหญิงบางคู่ก็ไม่จดทะเบียนสมรส แต่หากมองดีๆ คู่รักชายหญิงมี ‘สิทธิที่จะเลือก’ วันนี้การจดทะเบียนสมรสอาจไม่สำคัญสำหรับคู่ตัวเอง แต่หากวันข้างหน้าต้องการ ก็สามารถทำได้ทันทีเพราะมีกฎหมายรับรองสิทธิ แต่ในขณะที่คู่รักเพศเดียวกันหรือเพศหลากหลายไม่มีสิทธิที่จะเลือก เพราะไม่มีกฎหมายใดรับรองสิทธิ

การไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ทำให้คู่รัก LGBTQIAN+ สูญเสียสิทธิ หน้าที่ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ควรได้รับในฐานะคู่สมรสตามกฎหมาย เช่น การให้ความเห็นชอบในการรักษาพยาบาล และการได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่กำหนดโดยรัฐ เช่น ประกันสังคม และสิทธิค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ รวมไปถึงสิทธิในการรับมรดก โดยไม่ต้องทำพินัยกรรม และสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน 

ดังนั้นทันทีที่มีการแก้ไขคำให้เป็นกลางทางเพศมากขึ้น นั่นก็คือเปลี่ยนคำว่าชายและหญิง ในมาตรา 1448 ให้เป็นคำว่า ‘บุคคล’ เปลี่ยนคำว่าบิดามารดาเป็น ‘บุพการี’ และสามีภรรยาเป็น ‘คู่สมรส’ ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้คู่รักเพศหลากหลายสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมาย และได้รับการรับรองสิทธิ หน้าที่ สิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ในฐานะคู่สมรส โดยการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คู่สมรสชายหญิงเสียสิทธิใดๆ ที่มีอยู่เลย เพียงแต่เป็นการ ‘มอบคืนสิทธิ’ ที่ควรจะได้ตั้งแต่ต้นให้แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกันเท่านั้นเอง

“สมรสเท่าเทียมคือหมุดหมายสำคัญที่ยืนยันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศว่า ‘ทุกคน’ มีสิทธิที่จะรัก มีสิทธิที่จะสมรส และมีสิทธิที่จะจัดตั้งครอบครัวกับใครก็ได้โดยมีกฎหมายคุ้มครอง ความรักและการสร้างครอบครัวไม่ควรมีเรื่องเพศมาเป็นพรมแดน” อรรณว์ (วาดดาว) ชุมาพร ประธานคณะทำงานบางกอกไพรด์กล่าว

ในฐานะนักกิจกรรมที่ต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด อรรณว์ยังย้ำอีกว่า “เนื่องจากกลุ่ม LGBTQIAN+ ถูกกดขี่มานาน เมื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะส่งเสริมให้กลุ่มคนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่แก้กฎหมายแล้ว แต่โครงสร้างทางสังคม รวมถึงการกดขี่ การเหยียด และความรุนแรงทางเพศยังเหมือนเดิม การขับเคลื่อนเรื่องสมรสเท่าเทียมจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อสังคมได้ลองใช้กฎหมายที่แก้ไขเหล่านี้และปฏิบัติกับคู่รักเพศหลากหลายในฐานะคู่รักทั่วไป ก็จะทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ภายใต้ความเท่าเทียมและโอบรับตัวตนของทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม”

ศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ (สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และไอคอนสยาม) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสนับสนุนการจัดงาน ‘Bangkok Pride Festival 2024’ ซึ่งจัดโดยบางกอกไพรด์ (หรือบริษัท นฤมิตรไพรด์ จำกัด) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคอมมูนิตี้ต่างๆ ในสังคม เพื่อร่วมเฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม พร้อมสนับสนุนทุกความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม เพื่อปักหมุดให้กรุงเทพฯ เป็น World Pride Destination เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของกรุงเทพฯ ในการก้าวสู่การเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride 2030 (Road to Bangkok World Pride 2030)

ใน Pride Month นี้ สามารถเรียนรู้ประเด็นต่างๆ เหล่านี้กันได้เพิ่มเติมที่งาน ‘The Celebration: Right to Love’ ที่ให้คุณได้ร่วมเฉลิมฉลองปรากฏการณ์แห่ง All Pride ไปกับศูนย์การค้าเครือสยามพิวรรธน์กันต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนมิถุนายน 2567

สยามเซ็นเตอร์

  • Siam Center x Teletubbies Experience Space
  • Wacoal X Teletubbies Café 

สยามดิสคัฟเวอรี่

  • กิจกรรม Road to On Runway ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ Mister International Thailand

ไอคอนสยาม และไอซีเอส

  • แคมเปญ ICONSIAM Pride Out Loud ที่มีกิจกรรมให้ร่วมสนุกมากมายทั้ง Pride Market แฟชั่นโชว์ Pride Out Loud presents: Thai Pride x ICONCRAFT
  • การแสดง ICONIC Multimedia Water Features

และในสิ้นปีนี้เมื่อไทยสามารถบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้สำเร็จ ศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์จะจัดงานจดทะเบียนสมรสร่วมกันของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้ที่โอบรับทุกความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริงไปด้วยกัน

ติดตามไฮไลต์และกิจกรรมต่างๆ ของทุกศูนย์การค้าเพิ่มเติมได้ที่ ONESIAM SuperApp คลิก