EN
×

SPECTRA OF GENDER & SEXUALITY UNDER GENDER UNICORN

สำรวจมิติทางเพศที่หลากหลายในตัวเองผ่าน Gender Unicorn

ทุกวันนี้โลกเปิดกว้างกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น มีคำจำกัดความอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศเกิดขึ้นมากมายจนทำให้หลายคนที่เคยสับสนเริ่มเข้าใจและค้นพบคำอธิบายที่ตรงความเป็นตัวเองมากที่สุด นำไปสู่การใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและภาคภูมิใจ ไม่ต้องบังคับตัวเองให้อยู่ในกรอบทางเพศที่สังคมคาดหวัง 

อย่างไรก็ตามเพศมีความลื่นไหลและซับซ้อนเกินกว่าที่จะยึดติดกับนิยามเพียงคำเดียว นอกจากนี้ด้วยความเชื่อที่ว่าโลกมีเพียงเพศชายและเพศหญิงยังคงฝังรากลึก หลายๆ ครั้งเมื่อบอกคนอื่นว่านิยามทางเพศของตัวเองเป็นแบบใดแล้ว ก็มักจะถูก ‘สร้างภาพจำเหมารวม’ หรือ stereotype ว่าจะต้องเป็นแบบนั้นเท่านั้น เช่น หากบอกว่าตัวเองเป็นผู้ชายที่ชอบผู้หญิง ก็มักจะถูกตั้งข้อสงสัยถ้ามีพฤติกรรมออกสาว หรือผู้ที่เป็นหญิงข้ามเพศ (หรือนิยามตัวเองว่าเป็นกะเทย) ก็จะถูกมองว่าแปลกทันทีหากบอกว่าตัวเองชอบผู้หญิง และบ่อยครั้งจะมีคนตั้งคำถามกลับว่าทำไมถึงชอบผู้หญิง ต้องชอบผู้ชายสิ เช่นเดียวกันกับกรณีของคนที่เป็นชายข้ามเพศหรือทอมที่ชอบผู้ชาย

จริงๆ แล้วคนหนึ่งคนมีมิติทางเพศที่หลากหลาย โดยเครื่องมือที่เอาไว้ใช้สำรวจ ทบทวน และทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของแต่ละมิตินั้นมีชื่อเรียกว่า ‘Gender Unicorn’ ซึ่งแบ่งเพศออกเป็น 5 มิติ โดยแต่ละมิติเป็นเอกเทศจากกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้มีอิทธิพลหรือเป็นตัวกำหนดลักษณะเฉพาะให้แก่มิติทางเพศอื่น

เพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด (sex assigned at birth) ดูจากอวัยวะเพศของคนคนนั้นนั่นเอง โดยแบ่งเป็นชาย หญิง และอินเตอร์เซ็กส์หรือคนที่เกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ

สำนึกทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ทำให้เราเข้าใจว่าเพศกำเนิดไม่ได้กำหนดว่าคนคนนั้นจะต้องมีสำนึกทางเพศตรงตามนั้นเสมอไป บางคนเพศกำเนิดเป็นชายมีสำนึกทางเพศเป็นชาย แต่บางคนเพศกำเนิดเป็นหญิง ทว่าอาจจะมีสำนึกทางเพศเป็นชายก็ได้ ซึ่งผู้ที่มีสำนึกทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิดนี้เรียกว่าทรานส์เจนเดอร์หรือคนข้ามเพศ โดยบางคนอาจผ่านกระบวนการทางการแพทย์เพื่อแปลงเพศให้ตรงกับสำนึกทางเพศของตัวเอง นอกจากนี้บางกลุ่มอาจนิยามสำนึกทางเพศของตัวเองว่าเป็นนอนไบนารี เพราะไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นชายและหญิงตามบรรทัดฐานของสังคม

การแสดงออกทางเพศ (gender expression/presentation) พิจารณาจากพฤติกรรม ท่าทางการแสดงออก การใช้คำพูดหรือน้ำเสียง หรือแม้กระทั่งการแต่งกายว่ามีความเป็นชาย (masculine) ความเป็นหญิง (feminine) มีทั้งความเป็นชายและหญิง (androgynous) ไร้เพศหรือไม่เชื่อมโยงกับเพศใดๆ เลย (genderless/gender-neutral) ดังนั้นผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชายและสำนึกทางเพศเป็นชายอาจแสดงความเป็นหญิง หรือผสมกันทั้งชายและหญิงผ่านการแต่งหน้าและแต่งตัวก็ได้

แรงดึงดูดทางกาย (physically attracted) หมายถึงมีความชื่นชอบหรือถูกดึงดูดจากลักษณะทางกายภาพ หรือมีความรู้สึกทางเพศกับใคร โดยปัจจัยที่นำมาพิจารณาเป็นได้ทั้งเพศกำเนิด สำนึกทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ เช่น อาจชื่นชอบคนที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย หรือเกิดความรู้สึกทางเพศกับคนที่มีรูปร่าง จริต หรือกิริยาท่าทางมีความเป็นหญิงสูง (ซึ่งอาจจะมีเพศกำเนิดเป็นชายหรือหญิงก็ได้)

แรงดึงดูดทางใจ (emotionally attracted) คือมีความผูกพันทางอารมณ์ หรือรู้สึกสบายใจเวลาอยู่กับใคร ซึ่งเช่นเดียวกันกับแรงดึงดูดทางกาย สิ่งที่นำมาพิจารณามีได้ทั้งเพศกำเนิด สำนึกทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ มิติทางเพศนี้จะยิ่งช่วยอธิบายให้บางคนเข้าใจกรณีที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้มากขึ้น เช่น ถึงแม้ชื่นชอบหรือเกิดความรู้สึกทางเพศกับผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงเท่านั้น แต่ก็อาจจะเกิดแรงดึงดูดทางใจกับทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ทรานส์เจนเดอร์ หรือแม้กระทั่งนอนไบนารีก็ได้

ทั้ง 5 มิติทางเพศของ Gender Unicorn นี้แสดงให้เห็นว่าตัวตนของแต่ละคนมีหลากหลายเฉด ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด คนที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย อาจจะมีสำนึกทางเพศเป็นหญิง แสดงออกทางเพศเป็น androgynous และก็อาจจะมีแรงดึงดูดทางกายและใจกับผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง หรือกับผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่สำนึกทางเพศและแสดงออกเป็นหญิงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องชอบคนที่มีเพศกำเนิดชาย หรือสำนึกทางเพศและการแสดงออกทางเพศเป็นชาย ตามบรรทัดฐานหรือการเหมารวมของสังคมว่าเมื่อเป็นหรือคิดว่าตัวเองเป็นหญิงแล้ว ต้องชอบผู้ชายเท่านั้น

การนิยามว่าตัวเองเป็นเพศแบบหนึ่งในมิติหนึ่งนั้น ไม่อาจถูกแปะป้ายได้ว่ามิติอื่นๆ จะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่ง Gender Unicorn จะทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจตัวเองและคนทุกเพศในสังคมมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดการสร้างภาพจำเหมารวมซึ่งกันและกันให้น้อยลงได้ด้วย

ศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ (สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และไอคอนสยาม) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสนับสนุนการจัดงาน ‘Bangkok Pride Festival 2024’ ซึ่งจัดโดยบางกอกไพรด์ (หรือบริษัท นฤมิตรไพรด์ จำกัด) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคอมมูนิตี้ต่างๆ ในสังคม เพื่อร่วมเฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม พร้อมสนับสนุนทุกความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม เพื่อปักหมุดให้กรุงเทพฯ เป็น World Pride Destination เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของกรุงเทพฯ ในการก้าวสู่การเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride 2030 (Road to Bangkok World Pride 2030)

นอกจากจะร่วมสนับสนุนและให้การต้อนรับขบวน Bangkok Pride Parade พร้อมเปิดพื้นที่ดิสคัฟเวอรี่พลาซ่าและด้านหน้าสยามเซ็นเตอร์ เพื่อให้การต้อนรับคณะผู้ร่วมขบวนพาเหรดและจัดกิจกรรม Nationwide Pride Festival แล้ว สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และไอคอนสยาม ยังจัดกิจกรรมเปี่ยมสาระและความบันเทิงอีกมากมายตลอดเดือนมิถุนายน เพื่อเฉลิมฉลองปรากฏการณ์แห่ง All Pride ภายใต้แคมเปญ ‘The Celebration: Right to Love’

สยามเซ็นเตอร์

  • Siam Center x Teletubbies Experience Space
  • Wacoal X Teletubbies Café 

สยามดิสคัฟเวอรี่

  • กิจกรรม Road to On Runway ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ Mister International Thailand

ไอคอนสยาม และไอซีเอส

  • แคมเปญ ICONSIAM Pride Out Loud ที่มีกิจกรรมให้ร่วมสนุกมากมายทั้ง Pride Market แฟชั่นโชว์ Pride Out Loud presents: Thai Pride x ICONCRAFT
  • การแสดง ICONIC Multimedia Water Features

และในสิ้นปีนี้เมื่อไทยสามารถบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้สำเร็จ ศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์จะจัดงานจดทะเบียนสมรสร่วมกันของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้ที่โอบรับทุกความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริงไปด้วยกัน