EN
×

BANGKOK ON THE ROAD TO WORLD PRIDE DESTINATION

กรุงเทพฯ กับเป้าหมายจัดงาน Bangkok World Pride 2030 และก้าวสู่การเป็น World Pride Destination

เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายน นั่นหมายความว่า ‘Pride Month’ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในแต่ละเมืองทั่วโลก กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIAN+ ต่างพากันแต่งตัวหลากสีสันมาร่วมเดินขบวนพาเหรดเพื่อปลดปล่อยตัวตนอย่างภาคภูมิใจ ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีหลากหลายทางเพศในมิติต่างๆ เพื่อให้เกิดการเคารพและยอมรับซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคมที่กดทับกลุ่มคนเหล่านี้

นอกจากนี้ยังผลักดันประเด็นสำคัญของกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นสตรี ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ผู้สูงวัย เยาวชน ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงพนักงานบริการ (Sex Worker) รวมไปถึงประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ไขอย่างจริงจังทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต ไม่ถูกคุกคามหรือเลือกปฏิบัติเนื่องจากความแตกต่าง ตอกย้ำว่า ‘Pride’ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นเรื่องของ ‘ทุกกลุ่มความหลากหลาย’ ที่ออกมาแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ

ในไทยเองก็มีการฉลอง Pride Month ในหลายพื้นที่ แต่ในกรุงเทพฯ นั้น ไพรด์พาเหรดที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และจริงจังเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2022 โดยกลุ่ม ‘นฤมิตไพรด์’ ซึ่งโดดเด่นด้วยภาพคู่รักแซฟฟิก (Sapphic) หรือหญิงรักหญิงในชุดแต่งงานท่ามกลางสีสันของขบวนพาเหรดตลอดความยาวของถนนสีลม ต่อมาในปี 2023 ขบวนพาเหรดได้ย้ายมาสร้างสีรุ้งบนถนนพระราม 1 อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนมากยิ่งขึ้น รวมถึงศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ ไม่ว่าจะเป็นสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และไอคอนสยาม เพื่อโอบรับและสนับสนุนทุกความแตกต่างหลากหลาย (Diversity) ความเท่าเทียม (Equality) และการมีส่วนร่วม (Inclusion) อีกทั้งแสดงพลังให้เห็นว่าบางกอกไพรด์เป็นเรื่องของทุกคนอย่างแท้จริง ซึ่งในปีนี้เองก็ได้ร่วมเฉลิมฉลอง และสนับสนุนการจัดงาน “Bangkok Pride Festival 2024” จัดโดยบางกอกไพรด์ (หรือ บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด) และกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมด้วยคอมมูนิตี้ต่างๆ 

สำหรับปี 2024 นี้ นอกจากจะขยายสเกลงานเป็น Bangkok Pride Festival แล้ว ยังเป็นการร่วมกันเคานต์ดาวน์เพื่อเฉลิมฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2024 ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่รับรองให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย 

บางกอกไพรด์ปีที่สามยังมาพร้อมเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ นั่นก็คือการผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมืองน่าอยู่’ ที่ทุกเพศและทุกความหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างเท่าเทียม และคว้าสิทธิเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride ในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘World Pride Destination’ 

World Pride Destination คืออะไร? - อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการทำให้เมืองเมืองหนึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่คนทุกเพศและทุกความหลากหลายสามารถใช้ชีวิตเป็นตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ และได้รับสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน 

แล้วทำไมต้องเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride ในปี 2030? - การจะผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็น World Pride Destination ได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้น หมุดหมายหนึ่งที่สำคัญคือการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายเมืองทั่วโลก เช่น ลอนดอน มาดริด นิวยอร์กซิตี้ โคเปนเฮเกน โตรอนโต และซิดนีย์ งาน World Pride เปรียบได้กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่แสดงให้เห็นถึง ‘ศักดิ์ศรี’ และ ‘ศักยภาพ’ ของเมืองนั้นๆ ว่าสามารถจัดงานเฉลิมฉลองความหลากหลายได้ ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรม ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และทุกคอมมูนิตี้ในสังคม ที่ผลักดันให้เมืองมีความพร้อมในทุกมิติในการเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลระดับโลกนี้ได้

เมื่อกรุงเทพฯ ได้เป็นเจ้าภาพ World Pride แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? - การได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเกิดขึ้นในปี 2030 ได้สำเร็จนั้นนอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแล้ว ยังจะเป็นประตูบานสำคัญที่เปิดให้ทั้งโลกเห็นว่าประเทศไทยพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ LGBTQIAN+ และทุกกลุ่มความหลากหลายที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ภายใต้กฎหมายที่รับรองสิทธิ เสรีภาพ รวมถึงเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียม อีกทั้งเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิด World Pride Destination ในเมืองอื่นๆ ของทวีปเอเชียด้วย 

ความพร้อมของกรุงเทพฯ ในการเป็นเจ้าภาพ World Pride? - ในปี 2023 มีคนร่วมงานบางกอกไพรด์บนถนนพระราม 1 มากถึงหนึ่งแสนคน และทั่วประเทศไทยสามารถจัดงานไพรด์ได้ถึง 54 ครั้งใน 26 จังหวัด ส่วนปีนี้มีพันธมิตรเข้าร่วมกว่า 30 จังหวัดที่จะสามารถจัดงานไพรด์ในทั่วประเทศเกือบ 100 อีเวนต์ อรรณว์ (วาดดาว) ชุมาพร ประธานคณะทำงานบางกอกไพรด์ บอกว่าปรากฏการณ์นี้แสดงชัดเจนถึงความพร้อมของคนไทยในการเป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride 2030

ก่อนหน้านี้เราคิดว่า World Pride เป็นเรื่องไกลเกินฝัน แต่สามปีของบางกอกไพรด์ที่ผ่านมา ไทยกำลังจะเดินทางไปสู่ World Pride เหลือเพียงองค์ประกอบอีกไม่กี่อย่างที่ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันทั้งการแก้ไขกฎหมายที่สนับสนุนทุกความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม การสร้างสิ่งอำนวยสะดวกต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกคนในทุกคอมมูนิตี้ เช่น ห้องน้ำ และพื้นที่สาธารณะ เมื่อสิ่งเหล่านี้เสร็จสมบูรณ์ เราเชื่อว่าคนไทยทุกคนก็พร้อมแล้วที่จะเป็นเจ้าภาพและประกาศว่าเราโอบรับทุกความหลากหลายอย่างเท่าเทียม” 

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงพลังผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride 2030 ที่จะเปิดประตูสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่และพร้อมสนับสนุนทุกความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มได้ใน Bangkok Pride Parade ในวันที่ 1 มิถุนายน 2024 และร่วมเฉลิมฉลองปรากฏการณ์แห่ง All Pride ไปกับศูนย์การค้าเครือสยามพิวรรธน์ได้ต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนมิถุนายน 2567 ในงาน ‘The Celebration: Right to Love’ จัดเต็มกิจกรรมเปี่ยมสาระและความบันเทิงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • สยามพารากอน กับงาน Bangkok Pride Forum 2024 (31 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน) และ Drag Bangkok Festival 2024 (31 พฤษภาคม ถึง 3 มิถุนายน)
  • สยามเซ็นเตอร์ กับงาน Siam Center x Teletubbies Experience Space และงาน Wacoal X Teletubbies Café
  • สยามดิสคัฟเวอรี่ กับกิจกรรม Road to On Runway ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ Mister International Thailand
  • ปิดท้ายด้วยที่ไอคอนสยามและไอซีเอส กับแคมเปญ ICONSIAM Pride Out Loud ที่มีกิจกรรมให้ร่วมสนุกมากมายทั้ง Pride Market แฟชั่นโชว์ Pride Out Loud presents: Thai Pride x ICONCRAFT และการแสดง ICONIC Multimedia Water Features

ติดตามไฮไลต์และกิจกรรมต่างๆ ของทุกศูนย์การค้าเพิ่มเติมได้ที่ ONESIAM SuperApp คลิก